Labels

ประวัติ


ประวัติวงคาราบาว
ครบรอบ ๒๕ ปี คาราบาว พ.ศ. ๒๕๔๙
English Version
วงดนตรี “คาราบาว” เริ่มต้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยนักศึกษาที่ชื่อ ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) กับ กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) ได้รู้จักกันระหว่างที่ได้ไปศึกษาระดับปริญญาที่มหาวิทยาลัยมาปัวฯ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งบุคคลทั้งสองร่วมกันก่อตั้งวงดนตรีชื่อ “คาราบาว” ขึ้นมา คำว่า คาราบาว แปลว่า ควาย เป็นภาษาตากาล๊อก ใช้เรียกควายพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ ควายเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการต่อสู้ แสดงถึงการทำงานหนัก แสดงถึงความอดทน อีกทั้งควายยังเป็นตัวแทนผู้ใช้แรงงาน และถือได้ว่าผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ที่สร้างโลก ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ยืนยง โอภากุล จึงได้ใช้คำว่า “คาราบาว” พร้อมกับ “หัวควายมาเป็นสัญลักษณ์ของวงคาราบาว ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา
หลังจากสำเร็จการศึกษา กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ได้ทำงานเป็นพนักงานฝ่ายประเมินราคาเครื่องจักรในบริษัทฟิลิปปินส์ ยาวนานถึง 6 ปี ส่วนยืนยง โอภากุล ก็ได้เดินทางกลับมาประเทศไทย เพื่อเริ่มงานเป็นสถาปนิกที่การเคหะแห่งชาติ พร้อมกับตระเวนเล่นดนตรีในเวลากลางคืนไปด้วย
เมื่อทุกอย่างลงตัว นายยืนยง โอภากุล ก็ได้ลาออกจากงานประจำ มาเอาดีทางด้านดนตรีอย่างเดียว พร้อมชักชวนให้เพื่อนสนิท กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ที่กำลังทำงานในบริษัทฟิลิปส์ที่ตั้งอยู่สาขาในประเทศไทย ลาออกมาด้วยเช่นกัน เพื่อทำงานด้านดนตรี มาสร้างวงคาราบาว อย่างเต็มตัว
อัลบั้มชุดที่ 1 ของ “คาราบาว” เริ่มขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2524 ใช้ชื่อชุดว่า “ขี้เมา” โดยมีแอ๊ด และเขียวเป็นแกนนำ ซึ่งเพลงของคาราบาวในยุคนี้ ถือได้ว่าเป็นบทเพลงที่ได้รับอิทธิพลมาจากฟิลิปปินส์มาพอสมควร อย่างเช่น ลุงขี้เมา และเพลงที่ถือได้ว่าเป็นเพลงเปิดตัวของวงคาราบาวได้ดีที่สุดคือ เพลงมนต์เพลงคาราบาว ส่วนบทเพลงแรกของคาราบาวที่แอ๊ดได้ประพันธ์ไว้คือ “ถึกควายทุย” เป็นเรื่องราวของการใช้ชีวิตของบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ถูกให้ ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ทุกอัลบั้ม จนกล่าวได้ว่าเป็นเพลงบัลลาดที่ถูกเล่าขานได้ยาวนานที่สุด
หลังจากที่อัลบั้มชุดแรกออกไปแล้วนั้น ยืนยง โอภากุล ได้ชักชวน ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) มือกีต้าร์ และ อนุพงษ์ ประถมปัทมะ (อ๊อด) มือเบส เข้ามาร่วมวงคาราบาว ซึ่งในขณะนั้น เล็กและอ๊อด ได้เป็นนักดนตรีอาชีพประจำอยู่กับวงเพรสซิเด้นส์ และมีภาระกิจจะต้องไปทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศกับเพรสซิเด้นท์ให้เรียบร้อย จึงกลับมาอยู่กับคาราบาวอย่างเต็มตัว

เข้าสู่ปี พ.ศ. 2525 ยุคสมโภชน์ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ 200 ปี อัลบั้มชุดที่ 2 “แป๊ะขายขวด” ได้เกิดขึ้นมา โดยได้ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) เข้ามาเป็นสมาชิกคนที่ 3 ของคาราบาวและร่วมทำอัลบั้มนี้ออกมา โดยให้ พีค๊อกเป็นผู้ผลิต ซึ่งได้ทำเทปออกมา 20,000 ม้วน แต่ขณะนั้นทั้งสองอัลบั้มยังถือว่าไม่สบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่บทเพลงที่โดดเด่นในยุคนี้ก็คือ เพลงกัญชา ที่แอ๊ด คาราบาว มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในการร้อง โดยการลากเสียงได้ยาวนานจนทำให้ผู้ชมต้องเงียบสงัดกันไปเมื่อบทเพลงนี้ถูกร้องขึ้น
ด้วยความมุ่งมั่นของแอ๊ด ทำให้บทเพลงของคาราบาวมีเอกลักษณ์ โดยสะท้อนภาพของสังคมไทยมากขึ้น โดยแอ๊ดได้แต่งเพลงในสไตล์ที่เมืองไทยยังไม่มี ณ ขณะนั้น ในเพลงที่ชื่อว่า “วณิพก” โดยทำดนตรีจังหวะ 3 ช่า สนุกสนาน อีกทั้งเนื้อหาโดนใจคนฟัง และ “วณิพก” นี้เอง ได้ถูกตั้งเป็นชื่ออัลบั้มชุดที่ 3 ของคาราบาว ในปี พ.ศ. 2526 และอัลบั้มนี้เองทำให้ คาราบาวเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงทั่วประเทศมากขึ้น และอัลบั้มชุดนี้ ได้มือเบส ที่ชื่อ ไพรัช เพิ่มฉลาด (รัช) เข้ามาร่วมทำงานกับวงคาราบาว

หลังจากนั้นไม่นาน คาราบาวได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 “ท.ทหารอดทน” และถือเป็นอัลบั้มแรกที่คาราบาวโดนแบนเพลง และเพลงที่ถูกแบนก็คือ ท.ทหารอดทน ซึ่งมีเนื้อหาที่ไปพาดพิงเกี่ยวกับทหาร นอกจากนี้ยังมีบทเพลงที่สะท้อนชีวิต เช่นเพลง ตุ๊กตา , คนเก็บฟืน ถือว่าเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมมาก และอัลบั้มชุดนี้ได้ นักดนตรีอาชีพจากห้องอัดอโซน่าเข้ามาเป็นสมาชิกร่วมกับคาราบาวอย่างเต็มตัว คือ เทียรี่ เมฆวัฒนา (รี่) ตำแหน่งกีต้าร์, อาจารย์ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ตำแหน่งเครื่องเป่า และ อำนาจลูกจันทร์ (เป้า) ตำแหน่งกลอง

ต่อมาปี พ.ศ. 2527 คาราบาวขึ้นสู่จุดสูงสุด ด้วยอัลบั้มชุดประวัติศาสตร์ ชุดที่ 5 “เมดอินไทยแลนด์” เป็นอัลบั้มที่สร้างชื่อเสียงให้กับคาราบาวมากที่สุด ด้วยบทเพลงที่ชื่อ “เมดอินไทยแลนด์” ที่มีเนื้อหาประจวบเหมาะกับการลดค่าเงินบาทของรัฐบาลในสมัยนั้น แล้วรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้สินค้าของไทย ทำให้เมดอินไทยแลนด์เป็นอัลบั้มที่ทะลุเป้า ยอดขายกว่า 5 ล้านตลับ และคาราบาวมีการทัวร์คอนเสิร์ตทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์นี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงนักดนตรีของคาราบาวครั้งสำคัญ ซึ่งมือเบสจากวงเพรสซิเด้นท์ได้เสร็จสิ้นภาระกิจทัวร์คอนเสิร์ตจากอเมริกา และกลับเข้ามาร่วมกับคาราบาว บุคคลผู้นั้นคือ อนุพงษ์ ประถมปัทมะ (อ๊อด) และบุคคลที่ต้องออกจากวงคาราบาวไปด้วยความเสียใจของประชาชน ก็คือ ไพรัช เพิ่มฉลาด (รัช) มือเบสเดิมของคาราบาว ทั้งนี้เป็นเรื่องของการต่อสู้ การทำงานของวงคาราบาว

ซึ่งนับได้ว่าอัลบั้มชุดเมดอินไทยแลนด์เป็นยุคที่มีสมาชิกครบทั้ง 7 คน ประกอบไปด้วย 
สมาชิกคาราบาว (ยุคคลาสิก) พ.ศ.๒๕๒๔-พ.ศ.๒๕๓๑
1. นายยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) (กีต้าร์ , ร้องนำ) หัวหน้าวงคาราบาว2. นายกิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) (คียบอร์ด, เพอคัสชั่น, กีต้าร์)
3. นายปรีชา ชนะภัย (เล็ก) (กีต้าร์ , ร้องนำ)4. นายเทียรี่ เมฆวัฒนา (รี่) (กีต้าร์ , ร้องนำ)
5. นายธนิศร์ ศรีกลิ่นดี (อาจารย์) (คียบอร์ด, เครื่องเป่า)6. นายอำนาจ ลูกจันทร์ (เป้า) (กลอง)
7. นายอนุพงษ์ ประถมปัทมะ (อ๊อด) (เบส)7. นายไพรัช เพิ่มฉลาด (รัช) (เบส)
สมาชิกคาราบาว (ยุคปัจจุบันเพิ่มเติม) พ.ศ.๒๕๓๔-พ.ศ.๒๕๔๘
8. นายลือชัย งามสม (ดุก) (คีย์บอร์ด)9. นายขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ (หมี) (กีต้าร์)
10. นายชูชาติ หนูด้วง (โก้) (กลองมือ1)11. นายศยาพร สิงห์ทอง (น้อง) (เพอคัสชั่น)
12. นายเทพผจญ พันธพงษ์ไทย (อ้วน) (กลองมือ 2)
เมดอินไทยแลนด์ สามารถสร้างค่านิยมไทยกลับคืนมาสู่สังคมไทยได้รวดเร็ว โดยคาราบาวได้ออกทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศไทย อีกทั้งยังนำเมดอินไทยแลนด์ไปสร้างชื่อยังต่างแดน อย่างเช่น อเมริกา อีกด้วย
หลังจากอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์ ได้สร้างชื่อเสียงให้คาราบาวเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ทำให้การทำงานของคาราบาวในชุดต่อๆ ไป ต้องมีมาตรฐานที่เท่ากับเมดอินไทยแลนด์และต้องดียิ่งขึ้นไป

ซึ่งเป็นผลพวงจากความสำเร็จในอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์นี้เอง ทำให้คาราบาวได้มีห้องอัด เซ็นเตอร์สเตจขึ้นมา ซึ่งเป็นห้องอัดของวงคาราบาวเอง และต่อมาใน ปี พ.ศ.2528 คาราบาวได้ออกผลงานชุดที่ 6 ชื่อชุด “อเมริโกย” ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ คาราบาวได้ใช้ห้องบันทึกเสียง เซ็นเตอร์สเตจนี้ เป็นห้องบันทึกเสียงทุกบทเพลงของคาราบาว แนวเพลงของชุดนี้ยังคงเกาะติดถึงสถานการณ์บ้านเมือง โดยคาราบาวได้นำเหตุการณ์และความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ ณ ขณะนั้น อย่างปัญหาชาวนาและการประกันราคาข้าว อเมริกาจำกัดโควต้าการนำเข้าสิ่งทอไทย มาเขียนเป็นเพลงและขับขานให้ประชาชนได้ฟัง ในเพลงอเมริโกย เนื้อหาทางดนตรียังคงเรียบง่ายชัดเจน แต่มีการพัฒนาการทางด้านดนตรีเพิ่มขึ้น

ในปี พ.ศ. 2529 อัลบั้มชุดที่ 7 “ประชาธิปไตย” ด้วยกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในสถานการณ์บ้านเมืองในยุคนั้นต้องการประชาธิปไตย คาราบาวสะท้อนภาพการได้มาซึ่งประชาธิปไตยผ่านบทเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลง ประชาธิปไตย ผู้ทน และยังมีบทเพลงที่ปลุกใจอย่างเจ้าตาก ที่กระหึ่มกึกก้อง ทั่วธรนิน และบทเพลงอื่นๆ อีก ที่ล้วนแล้วแต่เป็นบทเพลง ที่มีคุณค่าต่อสังคมไทย และอัลบั้มนี้โดน กบว. แบนเพลงคาราบาวไปสามเพลงตามระเบียบ

ในปี พ.ศ. 2530 อัลบั้มชุดที่ 8 “เวลคัมทูไทยแลนด์” หรือเวรกรรมสู่ไทยแลนด์ คาราบาวออกอัลบั้มนี้มาต้อนรับเทศกาลท่องเที่ยวไทยในยุคนั้น เพื่อที่จะชักชวนชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ดนตรีในชุดนี้เป็นดนตรีที่ฟังสบายๆ มีกลิ่นอายของความเป็นไทย อย่างเช่น เวลคัมทูไทยแลนด์ หรือเพลงที่ฟังง่ายอย่างเพลง สบายกว่า ที่ร้องแนวประชดประชัน หรือเพลงบาปบริสุทธิ์ ที่เป็นเรื่องราวของคนรักกันที่ส่งผลถึงลูก หรือเพลงสังกะสี ที่สะท้อนชีวิตของกรรมกร และในอัลบั้มชุดนี้เอง ได้สร้างนักร้องน้องใหม่ของวงการดนตรีไทยขึ้นมา ด้วยเพลงสนุกสนานที่ชื่อ กระถางดอกไม้ให้คุณ โดยอนุพงษ์ ประถมปัทมะ (อ๊อด) มือเบสของคาราบาว

ในปี พ.ศ. 2531 อัลบั้มชุดที่ 9 “ทับหลัง” สถานการณ์ของประเทศไทยในช่วงนั้น เป็นการต่อสู้เพื่อทวงทับหลังนารายณ์บรรทมศีลที่ไปตกอยู่ในมือของต่างชาติกลับคืนมา โดยมีรัฐบาลไทยได้ทำการเรียกร้องขอคืน ซึ่งหลังจากนั้นทางประเทศไทยได้ทับหลังคืนมาสู่แผ่นดินแม่ได้ และไม่น่าเชื่อว่า อัลบั้มชุดทับหลัง จะเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายของการทำงานของสมาชิกคาราบาวทั้ง 7 คน ด้วยเหตุผลอื่นๆอีกมากมาย ที่ไม่สามารถทำให้สมาชิกคาราบาวรวมตัวกันทำงานต่อไปได้

แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) หัวเรือใหญ่ของวงคาราบาว ก็ได้ให้คำสัญญากับพี่น้องแฟนเพลงคาราบาวในคอนเสิร์ตเวทีสุดท้าย ก่อนจะเหลือเพียงความทรงจำ เอ็มบีเคฮอล์ มาบุญครองเซ็นเตอร์ ในคอนเสิร์ต ฅน คาราบาว ว่า ถึงจุดที่สมาชิกคาราบาวต้องแยกย้ายออกไปจากคาราบาว ไปทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีคาราบาวต่อไป

ในปี พ.ศ. 2533 เหลือสมาชิกในวงเพียง 4 คน ประกอบไปด้วย แอ๊ด เขียว เล็ก และอ๊อด ที่ยังคงเป็นแกนนำของคาราบาวในอัลบั้มชุดนี้ โดยมีวงตาวัน เข้ามาเป็นแบ๊คอัพ และสร้างสรรค์อัลบั้มชุดที่ 10 ขึ้นมา โดยใช้ชื่อชุดว่า “ห้ามจอดควาย” ขึ้นมาในนามของคาราบาว โดยมีสีสันทางด้านดนตรีต่างไปจากชุดเดิม แต่ก็ยังคงบทเพลงแนวทางเดิมของคาราบาว เพลงเด่นในชุดนี้ได้แก่ สัญญาหน้าฝน ที่แอ๊ด คาราบาว เขียนขึ้นให้เพื่อนรัก เขียว คาราบาวได้ร้องเพลงนี้ จนเป็นบทเพลงประจำตัวของเขียวคาราบาวไปเลย และบทเพลงถึกควายทุย ค.เขาเดียว ในอัลบั้มนี้ ถือเป็นบทเพลงภาคสุดท้ายของบทเพลงถึกควายทุยที่ถูกเล่าขานตั้งแต่ชุดที่ 1 ถึงชุดนี้

หลังจากอัลบั้มชุดที่ 10 "ห้ามจอดควาย" สมาชิกของคาราบาวอีก 3 คนที่เหลือ ประกอบไปด้วย เทียรี่ เมฆวัฒนา อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ อำนาจ ลูกจันทร์ รวมตัวกันเริ่มไปทำงานเดี่ยวของตัวเอง และนอกจากนั้น ยืนยง โอภากุล ปรีชา ชนะภัย กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ก็ได้ทยอยไปทำงานเดี่ยวของตนเองเช่นกัน

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับสมาชิกคาราบาวทั้ง 7 คน เป็นคำตอบของแฟนเพลงคาราบาว แต่ความเป็นจริงแล้ว การแยกย้ายกันออกไปทำเดี่ยวของแต่ละคนนั้น เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าการถึงจุดอิ่มตัวของความเป็นคาราบาวการทำงานด้วยกันมานานของสมาชิกทั้ง 7 คนนั้น ความขัดแย้งในการทำงานย่อมมีขึ้นเป็นธรรมดา แต่อย่างไรก็ดี สมาชิกทุกคนก็ยังไปมาหาสู่และช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยตลอด

ในปี พ.ศ. 2534 คาราบาวโดยหัวเรือใหญ่ แอ๊ด คาราบาว ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 11"วิชาแพะ" โดยมีสมาชิกคาราบาวเพียง 3 คนเท่านั้นคือ แอ๊ด เล็ก และอ๊อด และได้นักดนตรีอาชีพเข้ามาช่วยทำงานให้คาราบาว อาทิเช่น ลือชัย งามสม (ดุก) ตำแหน่งคีย์บอร์ด, ชูชาติ หนูด้วง (โก้) ตำแหน่งกลอง, ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ (หมี) ตำแหน่งกีต้าร์, ศยาพร สิงห์ทอง (น้อง) ตำแหน่งเพอร์คัสชั่น โดยแนวทางดนตรีของอัลบั้มชุดวิชาแพะนี้ จะมีหลากหลาย แต่ก็ยังคงแนวทางการเมืองอยู่ อาทิเช่นเพลง นาย ก. เป็นการเรียกร้องผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ในปี พ.ศ. 2535 อัลบั้มชุดที่ 12 “สัจจะ 10 ประการ” คาราบาวเกาะสถานการณ์การเมืองไทย รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คาราบาวได้แต่งเพลงให้สำหนับนักการเมือง อาทิเช่น เพลงสัจจะ 10 ประการ หรือเพลงเกี่ยวกับการอนุรักษ์น้ำ เพลงน้ำ เพราะสถานการณ์ช่วงนั้น ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตขาดแคลนน้ำ รัฐบาลออกมารณรงค์ให้ประชาชนคนไทยร่วมกันประหยัดน้ำ และรัฐบาลได้เลือกวงดนตรีคาราบาว ให้ทัวร์คอนเสิร์ตรณรงค์เรื่องน้ำด้วยเช่นกัน

ในปี พ.ศ. 2536 เป็นอัลบั้มชุดที่ 13 “ช้างไห้” โดยมีแกนนำคาราบาวเพียง 2 คนเท่านั้นคือ แอ๊ด กับ อ๊อด พร้อมกับนักดนตรีแบ็คอัพชุดเดิม ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเพลงในชุดช้างไห้นี้ โดยอัลบั้มนี้จะพูดถึงเรื่องธรรมชาติ การใช้ชีวิตของคน และบทเพลงที่ให้กำลังใจ

ในปี พ.ศ. 2537 อัลบั้มชุดที่ 14 “คนสร้างชาติ” คาราบาวเขียนบทเพลง คนสร้างชาติขึ้นมา เพื่อปลุกจิตสำนึกให้กับคนไทยให้รักชาติ และได้คุณพยัคฆ์ คำพันธุ์ เซียนพระมือหนึ่งแห่งประเทศไทย มาแต่งเพลงหลวงพ่อคูณให้กับคาราบาว สร้างความโด่งดังไปทั่วเมือง และในอัลบั้มนี้ ในฐานะคนเพื่อชีวิตแอ๊ดคาราบาวได้แต่งเพลง ครบรอบ 20 ปีคาราวานให้กับวงคาราวานอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2538 อัลบั้มชุดที่ 15 “แจกกล้วย” คาราบาวได้พูดการกระจายอำนาจไปสู่การเมืองระดับท้องถิ่น ในเพลงกำนันผู้ใหญ่บ้าน และเพลงที่เสียดสีผู้ที่โกงกินบ้านเมืองกับเพลง ค้างคาวกินกล้วย และเพลงเดินขบวนที่พยายามบอกกับรัฐบาลว่า ชาวบ้านเดือดร้อนจึงเดินขบวนประท้วงเรียกร้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ

อีกไม่กี่เดือนผ่านมาในปี พ.ศ. 2538 สิ่งที่แฟนเพลงคาราบาวรอคอยก็มาถึง สมาชิกคาราบาวทั้ง 7 คน ได้กลับมารวมตัวกันเฉพาะกิจ ในวาระครบรอบ 15 ปีคาราบาว และได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเพลงออกมาในอัลบั้มชุดที่ 16 ให้ชื่ออัลบั้มว่า "หากหัวใจยังรักควาย" ประกอบไปด้วย “หากหัวใจยังรักควาย1 และหากหัวใจยังรักควาย 2” บทเพลง 20 เพลงเต็มอิ่มสมกับการรอคอยที่ยาวนาน โดยมีเพลงจังหวะสามช่า เพลงสามช่าคาราบาว เป็นเพลงที่เล่าเรื่องราว 15 ปีของคาราบาวได้เป็นอย่างดี และมีเพลงอื่นๆ ที่เกาะสถานการณ์อย่างเช่น อองซานซูจี เต้าหู้ยี้ รวมถึงบทเพลงแนวปรัชญาอย่างเช่นเพลง ลุงฟาง เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2540 อัลบั้มชุดที่ 17 “เส้นทางสายปลาแดก” บทเพลงในอัลบั้มนี้เป็นบทเพลงที่ร่วมอนุรักษ์ความเป็นไทย เช่น เพลงน้ำพริกแกงป่า เพลงกลองยาว และยังเป็นการครบรอบปีที่ 12 ของบทเพลงเมดอินไทยแลนด์ ซึ่งมีการเรียบเรียงดนตรีใหม่มาไว้ในอัลบั้มนี้ด้วย

ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2540 อัลบั้มชุดที่18 “เช ยังไม่ตาย” บทเพลงในอัลบั้มนี้ได้กล่าวถึงบุคคลที่เป็นนักต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็น เช กูวารา , อองซาน ซูจี , อัสนี พลจันทร์ บทเพลงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความกล้าหาญในการต่อสู้ต่ออำนาจเผด็จการต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้บุคคลรุ่นหลังได้รับรู้ต่อไป

ในปี พ.ศ. 2541 อัลบั้มชุดที่ 19 “อเมริกันอันธพาล” เป็นการกลับมาร่วมงานกับคาราบาวอีกครั้งของ ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) เทียรี่ เมฆวัฒนา (รี่) และกิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) บทเพลงในอัลบั้มนี้ แอ๊ด คาราบาวได้ร้องเพลงเหน็บแนมประเทศมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา ในเพลงอเมริกันอันฑพาล ซึ่งอเมริกันได้ออกกลอุบายตั้ง IMF ขึ้น ปล่อยเงินกู้ให้ประเทศไทย จนทำให้ประเทศไทยเป็นหนี้อเมริกาอย่างมหาศาล และการกลับเข้ามาทำงานของสมาชิกคาราบาวเดิม เล็ก คาราบาว ได้ร้องเพลงเกี่ยวกับเด็ก ชื่อเพลงไอ้หนู ส่วนเทียรี่ได้มาขับขานเพลงรักตามสไตล์ตัวเอง ในชื่อเพลงรักนี้มีแต่เธอ ได้อย่างประทับใจ

ปลายปี พ.ศ. 2541 อัลบั้มชุดที่ 20 “พออยู่พอกิน” ในยุคนี้ประเทศไทยมีหนี้สินจากต่างประเทศมหาศาล ทำให้ระบบเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ประชาชนคนไทยใช้จ่ายไม่คล่องตัวเหมือนแต่ก่อน เพลงพออยู่พอกิน เป็นเพลงที่มาจากพระบรมชาโอวาทจากในหลวง ให้ประชาชนคนไทยใช้ชีวิตแบบพออยู่พอกิน ไม่ฟุ้งเฟ้อ นอกจากนี้ยังมีบทเพลง

ในปี พ.ศ. 2543 อัลบั้มชุดที่ 21 “เซียมหล่อตือ” ยังคงเกาะกระแสการเมือง โดยมีเพลงเซียมหล่อตือ หมูสยาม เหน็บแนมนักการเมืองที่ชอบกินบ้านโกงเมืองในภาวะสถานการณ์ของประเทศระส่ำย่ำแย่ ต่อด้วยเพลงสัญญาหน้าเลือกตั้ง ที่ให้บอกกับประชาชนว่าอย่าไปซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้ง นอกจากนี้ เพลงบางระจันวันเพ็ญ ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องบางระจัน ที่โด่งดังไปทั่วประเทศ ก็อยู่ในอัลบั้มนี้ด้วยเช่นกัน

ในปี พ.ศ. 2544 อัลบั้มชุดที่ 22 “สาวเบียร์ช้าง” อัลบั้มชุดนี้อยู่ในช่วงที่รัฐบาลที่มีนโยบายให้ปิดสถานบริการกลางคืนในเวลาที่กำหนด ทำให้คนทำงานกลางคืนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เพลง ปุรชัยเคอร์ฟิว และเพลงอดติ๊บอดตาย เป็นคำตอบของปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดี นอกจากนี้ยังมีเพลงที่ไว้อาลัยเหตุกาณ์ตึกถล่มที่เวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ในเพลง เดือน 9 เช้า 11

ในปี พ.ศ. 2545 อัลบั้มชุดที่ 23 “นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่” อัลบั้มนี้ออกมาพร้อมกับธุรกิจใหม่ของหัวเรือใหญ่แห่งคาราบาวคือ ยืนยง โอภากุล นั่นก็คือ ธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อคาราบาวแดง โดยใช้สโลแกนนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นตัวนำ โดยนำนักต่อสู้ในอดีตแต่ละยุคสมัยมาเป็นจุดขาย ผลงานเพลงชุดนี้นับว่ามีเพลงมากที่สุดตั้งแต่คาราบาวออกอัลบั้มมา มากถึง 13 เพลง มีเพลงดีๆ อย่าง คนล่าฝัน เป็นเพลงที่ฟังแล้วทำให้ผู้ที่จะยอมแพ้ต่อสู้กับชีวิตขึ้นมาได้ และยังมีเพลงนมหด ที่แอ๊ดแต่งต่อว่าพวกชอบเอาเปรียบนักเรียน เอานมบูดมาให้นักเรียนกินกัน และยังมีบทเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องพรางชมพู ที่แอ๊ดได้แสดงและแต่งเพลงให้สองเพลง ชื่อเพลงพรางชมพู และเรากระทบตุ้ด

ในปี พ.ศ.2546 คาราบาวไม่มีผลงานเพลงชุดใหม่ในปีนี้ แต่คาราบาวได้นำอัลบั้มที่เป็นประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ.2547 ของคาราบาวมาบันทึกเสียงใหม่ทั้งหมด นั่นคือ อัลบั้ม "เมดอินไทยแลนด์" โดยใช้ชื่ออัลบั้มนี้ว่า "เมดอินไทยแลนด์ ภาค 2546 สังคายนา" เพราะด้วยความตั้งใจของ แอ๊ด คาราบาว ที่ต้องการทำให้อัลบั้มชุดมาสเตอร์พีชนี้ มีความสมบูรณ์ที่สุด ในทุกๆ ด้าน เพื่อคงสภาพงานอัลบั้มคลาสสิคที่สุดของคาราบาวให้ยั่งยืนชั่วกาลนาน ด้วยคุณภาพของการบันทึกเสียงในยุคนี้

ในปี พ.ศ. 2548 อัลบั้มชุดที่ 24 “สามัคคีประเทศไทย” ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยในยุคนี้ เข้าสู่ยุควิกฤตทางสังคม มีกลุ่มคนร้ายที่ก่อความไม่สงบให้เกิดขึ้น ใน 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ของไทย ทำให้ประชาชนคนไทยเกิดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน คาราบาวได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสมานฉันท์ของคนไทยโดยใช้เสียงเพลงเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ในเพลง “ขวานไทยใจหนึ่งเดียว” และเพลงสามัคคีประเทศไทย เพื่อปลุกใจให้คนไทยรักกัน นอกจากนี้ยังมีเพลง อยู่กับก๋ง ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องอยู่กับก๋งที่คาราบาวได้แต่งขึ้นไว้ โดยเนื้อหาของบทเพลงนี้ก็เป็นเพลงที่สร้างสำนึกที่ดีให้กับบุญคุณของประเทศไทย

ไม่เพียงแต่ 24 อัลบั้มนี้เท่านั้น ยังมีผลงานอัลบั้มอื่นๆ ที่ออกมาคาบเกี่ยวระหว่าง 24 อัลบั้มนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อัลบั้มพิเศษในวาระต่างๆ อัลบั้มบันทึกการแสดงสดคาราบาว หรืออัลบั้มเดี่ยวของศิลปินคาราบาว เป็นต้น กล่าวได้ว่า คาราบาวเป็นวงดนตรีวงแรกและวงเดียวในประเทศไทย ที่มีการทำงานอย่างต่อเนื่องและยาวที่สุด อีกทั้งได้สร้างสรรค์บทเพลงที่มีคุณูประการกับสังคมไทยมากมาย หลายยุค หลายสมัย แต่ละบทเพลงล้วนแล้วแต่ความหมายที่ดี ที่สามารถนำไปเป็นข้อคิดในการดำรงชีวิตของทุกทคนได้